อยากกลับไปบอกอะไรกับตัวเอง ตอนอายุ 25 บ้าง?

วันนี้วันหยุดสบายๆ หลังจากผมไปสอบคุณวุฒิตัวหนึ่งของวิชาชีพวางแผนทางการเงิน ถึงสนามสอบเห็นน้องๆที่ยังเรียนมหาลัยมาสอบกันหลายคนเลย ไฟแรงมากๆ เรียกว่ามา Certify กันตั้งแต่เรียนยังไม่จบ ถือเป็นสัญญาณที่ดีมาก ว่าประเทศเราจะมีผู้มีความรู้ เกี่ยวกับการจัดการเงิน เพิ่มขึ้นๆ และขยายผลไปสู่วงกว่าง

.

ส่วนตัว เพราะพอมองย้อนกลับไปแล้ว ก็มีหลายสิ่งที่คิดว่าถ้าได้รู้ตั้งแต่อายุ 25 ชีวิตการเงินของผมน่าจะไปได้ไกลกว่านี้ แน่นอนว่าการเรียนรู้จากการลงมือทำเองเป็นสิ่งสำคัญ แต่ถ้ามีใครสักคนมาเตือนเรา (และเราทำตาม) ตั้งแต่ตอนนั้น คงจะช่วยประหยัดเวลาและเพิ่มโอกาสในการวางแผนระยะยาวได้มากทีเดียว แต่ก็อีกนั่นแหละ บางอย่างเราก็รู้อยู่แล้ว ถูกเตือนแล้ว แต่ตอนนั้นอาจจะหูดับอยู่ ประกอบกับความดื้อ ,ego และหลายๆอย่าง เราถึงได้มาเข้าใจ และตกผลึกเอาจริงๆ เมื่อเวลาผ่านไป

.

นี่คือ 6 บทเรียนที่ผมอยากบอกตัวเองในวัย 25 เผื่อว่าคนที่กำลังอ่านอยู่อาจได้ประโยชน์จากประสบการณ์ที่ผมได้เรียนรู้มาครับ

.

◾1. ไม่ก่อหนี้เกินจำเป็น โดยเฉพาะบัตรเครดิต

เข้าใจว่า สิ่งนี้หลายๆ คนก้อรู้กันอยู่ แต่บางทีก้ออดไม่ได้ ช่วงสมัยผมเริ่มทำงานได้ซัก 2-3 ปีแรกเรียกว่า เอนจอยกับการหาเงิน และใช้เงินมากๆ ทุกศุกร์ต้องมีปาร์ตี้ ไอ้เราก็หน้าใหญ่ซะด้วย บางทีก็เลี้ยง บ้างทีก็ลืมเก็บเงิน พอเริ่มมีรายได้เยอะขึ้น ก็เลยเริ่มใช้บัตรเครดิตแบบไม่คิด บางทีก็จ่ายขั้นต่ำเพราะคิดว่าไม่เป็นไร แต่พอรู้ตัวอีกที ดอกเบี้ยทบต้นก็พอกพูนขึ้นมาจนกลายเป็นภาระที่หนักมาก โหดร้ายกว่าที่คิดไว้เยอะเลยครับ แต่โชคดี ที่ตอนนั้นไม่ปล่อยให้พอกพูนเป็นหลักปี เรียกว่าหลงผิด แต่ก็หักเลี้ยวกลับมาทัน

◾2. รีบลงทุนให้เร็ว และให้ดอกเบี้ยทบต้นทำงานให้เรา

ตอนนั้นยังไม่เข้าใจพลังของดอกเบี้ยทบต้น คิดแค่ว่ามีเงินก้อนใหญ่แล้วค่อยลงทุน ใช้ชีวิตก่อนเหอะ แต่ความจริงคือยิ่งเริ่มเร็ว ยิ่งได้เปรียบ โยนเงินไปในกองทุนดัชนีที่มั่นคงแล้วปล่อยให้มันเติบโตระยะยาว ทยอยสะสมทีละน้อย ทีละเดือน ให้พลังของดอกเบี้ยมันค่อยๆ ทำงาน มูลค่าจะเพิ่มขึ้นจนเราตกใจเลยแหละ

◾3. ลองทำอะไรหลายๆ อย่าง และเลือกบางอย่าง ที่ลงลึกและตั้งใจจนชำนาญ

ในช่วงวัยนี้เป็นช่วงที่เรายังมีพลังและเวลามากพอที่จะเรียนรู้ การลองหลายๆ อย่างช่วยปั้นให้เราเก่งขึ้นในหลายด้าน แต่ควรเลือกลงลึกในสิ่งที่เราถนัด จะทำให้เรามี “learning curve” ที่ชันขึ้น และกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ ได้ไวกว่า ผมก็เชื่อด้วยว่า การลองหลายๆ อย่าง มันจะทำให้เรารู้จักตัวเอง และเชื่อมต่อองความรู้หลายๆ อย่างเข้าด้วยกัน เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม

◾4. ลงทุนกับอะไรต้องรู้จริง อย่าซื้อตามรีวิวหรือคำบอกเล่า

ตอนอายุ 25 ผมเคยซื้อกองทุนหรือหุ้นตามคำแนะนำจากรีวิวและบทความออนไลน์ (ตอนนั้นชอบอ่าน Pantip) ไม่ก็ถามเพื่อน เฮ้ย ตัวไหนดีอ่ะ หรือในขณะเดียวกัน ก็มีคนมาถามเราว่า ลงทุนกับอะไรล่ะ แต่ตอนนั้น เราก็บอกได้แค่ชื่อสินทรัพย์ แต่ถ้าถามกลับว่า แล้วมันมีข้อดี ข้อเสีย ผลประกอบการเป็นยังไง การเติบโตไปในทางไหน เราลับตอบไม่ได้ ยังงี้เรียกว่า ไม่เข้าใจจริง

สินทรัพย์ลงทุนแต่ละอย่าง มันก็เหมาะกับแต่ละคน ด้วยโจทย์ทางด้านผลตอบแทน และความเสี่ยง ที่ต่างกัน การไม่เข้าใจจริงๆว่าเงินที่เราลงไป มันลงไปกับอะไร แล้วน่าจะได้อะไรกลับมา ถือเป็นความเสี่ยงที่ร้ายแรง ยิ่งกว่าความเสี่ยงของตลาดซะอีก แต่จะโทษใครล่ะ ก็ตัวเองไม่ศึกษาเอง ตอนนี้ก็ไม่ได้จะกำไรทุกอย่างนะครับ แต่อย่างน้อยเราก็ได้เรียนรู้จากมัน และไม่ผิดซ้ำๆ

◾5. หาเวลาอยู่กับตัวเอง เข้าใจตัวเองมากกว่าสังคม

.

เมื่อเราเข้าใจตัวเอง เราจะรู้ว่าต้องการอะไรจริงๆ ไม่จำเป็นต้องวิ่งตามกระแสและการยอมรับของสังคม ทำตามสิ่งที่คนอื่นบอกว่าดี บางทีแค่รู้จักตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นหรือ “Toxic” ออกจากชีวิต เราจะพบว่าเส้นทางที่เราเลือกเดินมีความหมายและตรงใจกว่ามาก งาน เพื่อนฝูง หรือค่านิยมบางอย่าง ที่สังคมว่าดี จริงๆ แล้วมันอาจจะไม่เหมาะกับเราก็ได้

ในแง่ของการลงทุน บางคนอาจจะเหมาะกับสินทรัพย์เสี่ยงมาก บางคน ขอแบบนิ่งๆ ชิลๆ drawdown อย่าเยอะมาก หัวใจจะวาย การจัดแผนการลงทุน ควรเข้ากับ Lifestyle และความสามารถในการรับความเสี่ยงเฉพาะบุคคล

◾6. ได้ก้อนใหญ่ แบ่งเก็บไว้ในที่ไกลหูไกลตาไว้บ้าง

ทุกครั้งที่ได้เงินก้อนใหญ่ ผมมักจะใช้ไปกับสินค้าการบริโภค เอาไปท่องเที่ยว ถ้าย้อนไปได้ จะมัดมือตัวเอง แล้ว่กันบางส่วนไปลงทุนในที่ที่ต้องถือครองระยะยาว เช่น กองทุนรวมระยะยาว หรือประกันบำนาญ เพื่อป้องกันการใช้เงินหมดเร็วเกินไปและยังได้ประโยชน์ทางภาษี พอรู้ตัวอีกที ไอ้ก้อนนั้นมันก็ค่อยๆ โตมาเยอะเลยแหละ

ทั้งหมดนี้คือบทเรียนที่อยากบอกตัวเองในวัย 25 การสร้างความมั่นคงทางการเงินที่แท้จริงต้องอาศัยความอดทนและการวางแผนระยะยาว ส่วนใครมีอะไร ที่อยากจะบอก ก็มาแชร์กันได้นะครับ ^^

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *