เคยคิดไหมครับว่าอยากเกษียณตอนอายุเท่าไหร่? บางคนฝันอยากเกษียณ ตอนอายุ55 หรือ 45, 40 หรือเร็วกว่านั้น ยิ่งในยุคนี้ คำว่า FIRE ก็กำลังเป็นกระแส (Financial Independent Retire Early) อยู่ซะด้วย
ผมเองเพิ่งจะมาโฟกัสกับแผนนี้เอาตอนช่วงหลังๆ มานี้ ตั้งเป้าไว้ที่อายุ 45
เข้าใจเลยครับ ว่ามันมีหลายคน หลายสื่อ คอยบอกเราเต็มไปหมด และเป็นอะไรที่ทุกคนก็รู้กันดีอยู่แล้วว่า ลดค่าใช้จ่ายสิ เพิ่มรายได้สิ ลงทุนเพิ่มสิ และอีกหลายๆ คำแนะนำ
ความท้าทายมักอยู่ที่การเริ่มต้น และความต่อเนื่อง ผมจะมาแชร์เทคนิค ที่ไม่ซับซ้อน เป็น “สูตรง่ายๆ” สำหรับคนที่อยากเริ่มต้น แต่จริงจัง
1. วางแผนเกษียณแบบ “3 ถังการเงิน”
แทนที่จะคิดว่าต้องมีเงินก้อนใหญ่ ลองแบ่งเป็น 3 ถังการเงินได้แก่:
[[ถังที่ 1: ค่าใช้จ่ายประจำ (กินอยู่, ค่าเช่า, ค่าประกัน)
[[ถังที่ 2: ค่าใช้จ่ายเพื่อตัวเอง(ท่องเที่ยว, งานอดิเรก) ขอเสริมอีกหน่อย ผมเพิ่มค่าใช้จ่ายในการพัฒนาตัวเอง ในถังนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการลงเรียนคอร์สต่างๆ ,ซื้อหนังสือ หรือไว้ทำกิจกรรมที่เราสนใจ เป็นการเพิ่มทักษะให้กับตัวเองในตอนเกษียณ
[[ถังที่ 3: เงินสำรองฉุกเฉินในช่วงเกษียณ (รักษาพยาบาล, ค่าใช้จ่ายไม่คาดฝัน) หลายๆ คนอาจจะโอนย้ายความเสี่ยงของถังนี้ ไปยังประกันสุขภาพก็ได้
แต่ละถังจะช่วยให้เราวางเป้าหมายเป็นเป้าย่อย ลดความรู้สึกว่าเกษียณเป็นเป้าหมายใหญ่เกินครับ
2. ลงทุนแบบ “กึ่งบังคับ” ด้วยเครื่องมือที่เหมาะสม
หลายคนเก็บเงินได้แค่ช่วงแรกแต่หยุดออมเมื่อมีรายจ่ายเพิ่ม ลองเลือกลงทุนในเครื่องมือที่ช่วยบังคับการออมระยะยาว เช่น RMF หรือประกันบำนาญ ไม่ก็การตั้ง DCA ซื้อหน่วยลงทุนอัตโมมัตทุกเดือน ไม่ว่าจะเป็น หุ้นปันผล , ETF ,ทองคำ หรือกองทุนรวมอื่นๆ แต่อย่าลืมกระจายความเสี่ยงด้วยนะ
3. เริ่มจาก 10% ของรายได้และ “ทบ” ทุกครั้งที่ได้เงินก้อน
ตอนเริ่มต้นอาจตั้งเป้าออมเริ่มต้นที่ 10% ของรายได้ (หรือจำนวนที่เราไม่กดดัน) ตอนได้เงินก้อนหรือโบนัส ก็ทบเพิ่มเข้าไป หรือแยกเก็บในกองทุนที่ให้ผลตอบแทนระยะยาว ช่วยเร่งการเติบโตของเงินให้เร็วขึ้น
4. จัดงบประมาณ “เพื่อใช้ชีวิตในฝัน”
จะให้คิดแต่เป้าเกษียณอยู่ตลอดเวลา มันก็เครียดเอาเรื่อง ลองคิดถึงไลฟ์สไตล์ที่อยากมี เช่น การท่องเที่ยว ไปเรียนรู้วัฒนธรรม หรืออยู่บ้านที่ชอบ แล้ววางแผนรองรับความฝันนั้น ควบคู่กันไป
5. ใช้เทคนิค “ตั้งชื่อให้เป้าหมายการเงิน”
ต่อเนื่องจากข้อก่อนหน้าเมื่อเรามีภาพชีวิตในฝันแล้ว “การเก็บเงินไปเรื่อยๆ” บางทีมันก็เหนื่อยและขาดแรงบันดาลใจ ลองตั้งชื่อให้เงินแต่ละก้อน เช่น “เงินเที่ยวฟินๆตอนเกษียณ” , “บ้านในฝันของฉัน” ช่วยให้โฟกัสและอยากออมเพิ่มขึ้น สมัยนี้มีหลาย application ที่เข้ามาช่วยซอยเงินเรา เป็นกระเป๋าย่อยๆ เช่น KEPT จาก ธนาคารกรุงศรี หรือ MAKE จากธนาคารกสิกรไทย ส่วนตัวผมก็ใช้อยู่ทั้งคู่ และในบางถัง ดอกเบี้ยก็สูงกว่าบัญชีออมทรัพย์ด้วยนะ ลองไปโหลดกันมาเล่นได้ครับ
หากลองนำเทคนิคเหล่านี้มาใช้ทีละนิดจะช่วยให้แผนเกษียณชัดขึ้น และรู้สึกว่าไม่ไกลเกินเอื้อม สุดท้ายแล้ว เรื่องการวางแผนเกษียณไม่ได้ขึ้นอยู่กับเทคนิคซับซ้อนอะไรแต่มันคือการค่อย ๆ สร้างนิสัย วินัย และความสม่ำเสมอ การทำอย่างต่อเนื่องครับ
แต่ละคนตั้งเป้าเกษียณไว้ที่อายุเท่าไหร่ และอยากใช้ชีวิตแบบไหน? มาแชร์เป้าหมายกันได้นะครับ เผื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กันและกัน
Leave a Reply